วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเลี้ยงปลาช่อน



ปลาช่อน
           ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยอาศัย อยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงและทะเลสาบ มีชื่อสามัญ STRIPED SNAKE-HEAD FISH และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striatus ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดี ก้างน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงทำให้การบริโภคปลาช่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันปริมาณปลาช่อนที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ มีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการทำประมง เกินศักยภาพการผลิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ตื้นเขิน ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ทำให้ปริมาณปลาช่อนในธรรมชาติ ไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และความต้องการบริโภค การเลี้ยงปลาช่อนจึงเป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน โดยนำลูกปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากการเพาะขยายพันธุ์มา เลี้ยงให้เป็นปลาโตตามขนาดที่ตลาดต้องการต่อไป
อุปนิสัย
           โดยธรรมชาติปลาช่อนเป็นปลาประเภทกินเนื้อ กินสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งปลาขนาดเล็กและแมลงในน้ำชนิดต่างๆ เป็นอาหาร เมื่ออาหารขาดแคลน ปลาจะมีพฤติกรรมกินกันเอง โดยปลาช่อนตัวใหญ่จะกินปลาตัวเล็ก
รูปร่างลักษณะ
           ปลาช่อนเป็นปลาที่มีเกล็ด มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ลำตัวอ้วนกลมยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่ ปากกว้างมาก มีฟันซี่เล็กๆ อยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางเรียวปลายมน ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว ๖-๗ เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน ครีบสีคล้ำมีขอบสีเหลืองอ่อน ครีบท้องจาง มีขนาดลำตัวประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง ๑ เมตร มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ปลาช่อนจึงสามารถเคลื่อนไหวไปบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนได้เป็นเวลานานๆ
แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย
           ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืด อาศัยอยู่ตามแม่น้ำ (ตอนที่กระแสน้ำไหลอ่อนๆ) ลำคลอง หนองบึง บ่อและคู ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในฤดูฝนปรากฏว่าปลาช่อนขึ้นไปหาอาหารและวางไข่ตามทุ่งนา เป็นอันมาก นอกจากนี้ยังพบว่าปลาช่อนนั้นสามารถอยู่ได้ในน้ำกร่อย เช่น บริเวณคลองด้านซ้ายมือ เขตอำเภอบางปะกง ซึ่งมีความเค็ม ๐.๒-๐.๓ เปอร์เซ็นต์ และมี pH ตั้งแต่ ๔.๐-๙.๐ ปลาช่อนก็อยู่ได้ นอกจากประเทศไทยแล้วในต่างประเทศที่พบว่ามีปลาช่อน คือ อินเดีย พม่า มลายู บอร์เนียวเหนือ เวียดนาม เขมร ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
การเตรียมพ่อแม่พันธุ์
           พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ต้องเป็นปลาที่เลี้ยงเองตั้งแต่เล็ก ด้วยอาหารเม็ด เพื่อให้ปลาเชื่องและคุ้นเคยต่อสภาพกักขัง โดยช่วงแรกอายุ ๑-๓ เดือน เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ เพื่อฝึกให้ปลาเชื่องและกินอาหารเม็ดได้ดีหลังจากนั้นนำไปเลี้ยงในบ่อดิน เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ขึ้น อายุ ๖-๘ เดือน จึงนำกลับมาเลี้ยงต่อในบ่อซีเมนต์เพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
           เลี้ยงในบ่อซีเมนต์แบบรวมเพศอัตราการปล่อย ๑๐ ตัวต่อตารางเมตร น้ำหนักรวม ๑๐๐ กิโลกรัมต่อบ่อขนาด ๕๐ ตารางเมตร ให้อาหารเม็ดลอยน้ำสำหรับปลาดุกเล็กโปรตีน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ วันละ ๒ ครั้ง อัตรา ๒% ของน้ำหนักตัว เปลี่ยนถ่ายน้ำทั้งบ่อพร้อมลำงทำความสะอาดเดือนละ ๒ ครั้ง ไม่ให้อากาศ
บ่อเลี้ยงปลาช่อน
การเพาะพันธุ์โดยใช้ฮอร์โมน
           ปลาช่อนสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่ จะเริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม-ตุลาคม ช่วงที่แม่ปลามีความพร้อมที่สุดคือ เดือน มิถุนายน-กรกฎาคม
          ในฤดูวางไข่ จะสังเกตความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับเพศเมียอย่างเห็นได้ชัดคือ ปลาเพศเมีย ลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่ มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ ลำตัวมีสีเข้มใต้คางจะมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าปลาเพศเมีย
ความแตกต่างระหว่างเพศผู้และเพศเมีย
           ตามธรรมชาติปลาช่อนจะสรำงรังวางไข่ในแหล่งน้ำนิ่งความลึกของน้ำประมาณ ๓๐-๑๐๐ เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สรำงรัง ด้วยการกัดหญ้าหรือพรรณไม้น้ำและใช้หางโบกพัด ตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้พื้นที่เป็นรูปวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางของรัง ส่วนพื้นดินใต้น้ำ ปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ หลังจากที่ปลาช่อนได้ผสมพันธุ์วางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆ เพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากิน จนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลลูกปลาวัยอ่อน เมื่อลูกปลามีขนาด ๒-๓ เซนติเมตร จึงแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งระยะนี้เรียกว่า ลูกครอก หรือ ลูกชักครอก ลูกปลาขนาดดังกล่าว น้ำหนักเฉลี่ย ๐.๕ กรัม ปลา ๑ กิโลกรัมจะมีลูกครอก ประมาณ ๒,๐๐๐ ตัว ลูกครอกระยะนี้จะมีเกษตรกร ผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอาชีพ นำมาจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงปลาอีกต่อหนึ่งในราคากิโลกรัมละ ๗๐-๑๐๐ บาท ซึ่งรวบรวมได้มากในระหว่างเดือน มิถุนายน-ธันวาคม
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
  ปลาช่อนที่นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ควรเป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์ ไม่บอบช้ำและมีน้ำหนักตั้งแต่ ๘๐๐-๑,๐๐๐ กรัมขึ้นไปและควรอายุ ๑ ปีขึ้นไป ลักษณะแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ปลาช่อนที่ดี ซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ คือ แม่พันธุ์ควรมีส่วนท้องอูมเล็กน้อย ลักษณะของติ่งเพศ มีสีแดงหรือสีชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆ ที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมา มีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน ใส ส่วนพ่อพันธุ์ติ่งเพศ ควรจะมีสีชมพูเรื่อๆ ปลาไม่ควรจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมมากเกินไปและเป็นปลาที่มี ขนาดน้ำหนัก ๘๐๐-๑,๐๐๐ กรัม
        การคัดเลือก ต้องทำด้วยความรวดเร็วอย่าให้ปลาขับเมือกออกมาก พ่อปลาควรมีอายุมากกว่าแม่ปลา คือ อายุ ๒ ปีขึ้นไป
การฉีดฮอร์โมน
           ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (Suprefact) ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ (Motilium) ฉีดให้แม่ปลาครั้งเดียว อัตราฮอร์โมนสังเคราะห์ ๒๐-๓๐ ไมโครกรัม/กิโลกรัมและยาเสริมฤทธิ์ ๑๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม พ่อปลาฉีดพร้อมแม่ปลาด้วยความเข้มข้นฮอร์โมนสังเคราะห์ ๑๐ ไมโครกรัม/กิโลกรัมและยาเสริมฤทธิ์ ๑๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้ากลำมเนื้อข้างตัวปลาหรือโคนครีบหู
          **** ขณะฉีดปลาต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลา
การผสมพันธุ์
           หลังฉีดฮอร์โมนแล้ว ปล่อยพ่อแม่ปลาลงผสมในถังพลาสติกทรงสูง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร น้ำลึก ๖๐-๗๐ เซนติเมตร ถังละ ๑ คู่ ใส่เชือกฟางฉีกฝอยเพื่อเป็นรังไข่ ปิดปากถังด้วยตาข่ายพรางแสงสีดำทิ้งไว้ ๒๔ ชั่วโมงปลาจะรัดและผสมพันธุ์วางไข่เองตามธรรมชาติไข่ลอยผิวหนำน้ำบริเวณรัง ไข่
          ****ขณะผสมพันธุ์พ่อแม่ปลาต้องการที่เงียบสงบ ถังเพาะควรอยู่ในที่เงียบสงบ ไม่พลุกพล่านหรือมีเสียงรบกวน
การฟักไข่
- การฟักไข่
           ไข่ปลาช่อนมีลักษณะกลมเล็ก เป็นไข่ลอย มีไขมันมาก ไข่ที่ดีมีสีเหลือง ใส ส่วนไข่เสียจะทึบหลังปลาวางไข่ ใช้กระชอนผ้าตาถี่ (โอล่อนแก้ว) ช้อนไข่มารวมในถังฟัก(ถังไฟเบอร์กลาส) ขนาดความจุ ๒ ตัน ใส่น้ำสูง ๖๕ เซนติเมตร เปิดน้ำให้ไหลผ่านตลอด (อัตรา ๕ ลิตรต่อนาที) ๑ ถังใส่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ฟอง
          **** หลังฟักไข่ จะมีไข่บางส่วนเสีย ควรช้อนทิ้งเป็นระยะๆ การฟักไข่ระบบน้ำปิดและมีระบบกรองที่ดีจะมีประสิทธิภาพกว่าระบบเปิด
การฟักไข่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น