วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเลี้ยงยี่สกเทศ

ปลายี่สกเทศ
 


ปลายี่สกเทศ (Labeo rohita Boche) หรือปลาโรฮู่ เป็นปลาที่นำมาจากประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2511 แผนกทดลองเพาะเลี้ยง บางเขน ได้นำมาขยายพันธุ์ เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ปัจจุบันปลายี่สกเทศได้แพร่ขยายพันธุ์ไปทุกภาคของเทศ ปลาตัวนี้ถ้าปล่อยเลี้ยงในบ่ออาจจะผสมพันธุ์วางไข่ได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ได้มีการเพาะขยายพันธุ์โดยการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
ก. ลักษณะของบ่อเลี้ยง ควรจะมีขนาด 400 ตรม. ขึ้นไป จนถึงประมาณ 2 ไร่ ถ้าใหญ่มากเกินไปการจับพ่อแม่ปลาเพื่อมาผสมพันธุ์ จะทำได้ลำบาก สำหรับความลึกของบ่อควรลึกประมาณ 1.5-2.5 ม.
ข. อาหารและการจัดการ ปลายี่สกเทศเมื่อโตเต็มวัยจะกินพืชเน่าเปื่อย ดังนั้นอาหารธรรมชาติในบ่อจึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของปลา อย่างไรก็ตามควรจะให้อาหารผสมสมทบด้วยในปริมาณ 1-2 % ของน้ำหนักพ่อแม่ปลาต่อวัน สำหรับการถ่ายเทน้ำ ถ้าสามารถถ่ายเทน้ำเก่าออกและเพิ่มน้ำใหม่เข้าไปประมาณเดือนละ 2 ครั้ง จะทำให้การเจริญเติบโตและการสร้างไข่ของแม่ปลาเร็วขึ้นปกติแล้วปลายี่สกเทศจะมีช่วงฤดูวางไข่ประมาณ 5 เดือน คือ เดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคม อัตราการปล่อยพ่อแม่ปลาเลี้ยงในบ่อนั้น ใช้อัตราประมาณ 2-4 ตรม./ปลา 1 ตัว และสามารถปล่อยทั้งเพศผู้และเพศเมีย รวมกันในบ่อเดียวกันได้ ปลายี่สกเทศที่เราจะใช้ทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี และมีขนาด 1.0 กก.ขึ้นไป

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ในฤดูกาลผสมพันธุ์ หลังจากเลี้ยงพ่อแม่ปลาให้มีความสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ต้องมีการคัดเลือกปลาตัวผู้และตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ เพื่อมาทำการเพาะผสมเทียม ซึ่งสามารถคัดเลือกได้ ดังนี้

ลักษณะของปลาตัวเมียที่มีไข่แก่เต็มที่ ท้องจะอูมเป่ง เมื่อจับดูจะนิ่มมาก ถ้าเอามือลูบบริเวณท้องจากส่วนหัวไปส่วนหาง จะมีความรู้สึกว่าไข่จะแยกเป็น 2 พู ชัดเจน และถ้าดูที่อวัยวะเพศ จะมีลักษณะอูมเป่งและมีสีชมพูเรื่อ ๆ

ตัวผู้ สังเกตได้ง่าย ๆ โดยการจับที่บริเวณหูจะสากมาก ลำตัวยาวเรียว เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเมีย ถ้าบีบตรงบริเวณก้นเบา ๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นคล้ายนมสดไหลออกมา แสดงว่าปลาตัวผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศ สามารถนำไปผสมพันธุ์ได้

ฮอร์โมนและปริมาณฮอร์โมนที่ใช้
สำหรับฮอร์โมนที่ใช้ฉีดเร่งให้ปลายี่สกเทศวางไข่นั้นมี 2 อย่าง คือ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง และฮอร์โมนจากปัสสาวะของหญิงมีครรภ์
ปริมาณฮอร์โมนที่ฉีดสำหรับปลายี่สกเทศนั้น ฉีด 2 ครั้ง โดยจะใช้ฮอร์โมนสกัดด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งมีปริมาณดังนี้

ฉีดครั้งแรก ใช้ประมาณ 0.4-1.0 โดส
ฉีดครั้งที่ 2 ใช้ประมาณ 1.2-2.0 โดส

ตำแหน่งที่ฉีดและช่วงเวลาในการฉีด สำหรับตำแหน่งที่ฉีดนั้นมีหลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่ง่าย ๆ มี 2 แห่ง คือ บริเวณกล้ามเนื้อใต้ครีบหลังโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อใต้เกล็ดปลา และบริเวณปลายสุดของครีบหลัง สำหรับช่วงเวลาของการฉีดเข็มแรกและเข็มที่สอง ใช้เวลาห่างกันประมาณ 5-6 ชม.

การรีดไข่เพื่อผสมพันธุ์
หลังจากที่ฉีดน้ำยาผสมเข็มที่สองเข้าไปในแม่ปลาแล้วรออีกประมาณ 4-5 ชม.ก็เริ่มตรวจเช็คปลาโดยจับแม่ปลาเบา ๆ แล้วบีบที่ท้องบริเวณช่วงต้น ๆ ของรังไข่เบา ๆ ถ้าไข่ปลาพุ่งไหลออกมา แสดงว่าไข่พร้อมที่จะผสมกับน้ำเชื้อได้แล้ว นำมาเช็คลำตัวให้แห้ง แล้วรีดไข่ใส่กาละมังสะอาดและหลังจากนั้นนำตัวผู้มาเช็ดลำตัวให้แห้ง แล้วรีดน้ำเชื้อใส่ลงไปบนไข่ ใช้ขนไก่คนให้ทั่ว เพื่อให้ไข่และน้ำเชื้อผสมกันให้ทั่ว เติมน้ำลงไปเล็กน้อยคนอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงใส่น้ำไปจนเต็ม คนให้ทั่วแล้วรินน้ำทิ้ง ใส่น้ำสะอาดทำเช่นเดิมอีกประมาณ 2-3 ครั้ง จึงนำไปฟัก

การฟักไข่
ไข่ของปลายี่สกเทศเป็นลักษณะไข่ครึ่งลอยครึ่งจม หลังจากที่ล้างไข่จนสะอาดแล้วไข่จะดูดซึมน้ำเข้าไปและเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น จนมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 3-4 มม. อุปกรณ์ใช้ในการฟักไข่ได้แก่ กรวยฟัก ซึ่งทำด้วยผ้าหรือถังฟัก โดยใช้หลักที่ว่า ทำให้ไข่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาไข่จะฟักเป็นตัวโดยใช้เวลาประมาณ 12-17 ชม.

การอนุบาลลูกปลา
หลังจากที่ลูกปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว ระยะแรกลูกปลาจะไม่กินอาหาร เนื่องจากมีอาหารคือ ถุงไข่แดงติดมากับลำตัว ลูกปลาจะใช้อาหารที่มีอยู่นั้นไปเรื่อย ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 36-48 ชม. ลูกปลาจะเริ่มกินอาหาร โดยให้ไข่แดง (ไข่ไก่) ต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำให้กินประมาณ 2-3 วัน จากนั้นย้ายลูกปลาลงไปอนุบาลในบ่อดินต่อไป ควรเตรียมบ่ออนุบาลลูกปลาให้สะอาดและมีการเตรียมใส่ปุ๋ยให้เกิดอาหารธรรมชาติ การใส่ปุ๋ยต้องระวังปัญหาเกี่ยวกับศัตรูต่าง ๆ ของลูกปลาให้ดี เพื่อปริมาณการรอดของลูกปลาจะได้สูงขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น